ภาษาไทย

บทความ / รีวิว

บทความ / รีวิว

images/7ab7b00e-1f3a-4629-afaa-b5374e9bd0bc.jpg

หลักการซื้อการ์ดจอ (Graphic card) ให้ตรงกับการใช้งาน!

Posted 10.05.2020 | รอบรู้เรื่องคอมพิวเตอร์

           การ์ดจอหรือที่ชอบเรียกกันสั้นๆว่า VGA หรือ GPU นั้นใครหลายๆคนคงจะรู้จักและรู้อยู่แล้วว่าการ์ดจอทำหน้าที่เป็นส่วนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับ คอมพิวเตอร์ของเรานั่นเอง ทั้งในส่วนของการเล่นเกมและการทำงาน แต่ว่าการ์ดจอนั้นมีรุ่นประสิทธิภาพ รวมถึงขีดจำกัดการใช้งานแตกต่างกันไป วันนี้ ComputeAndMore จะบอกแนวทางเลือกซื้อการ์ดจอให้เหมาะแก่เราแบบจัดเต็ม

ผู้ผลิตการ์ดจอ

             การ์ดจอนั้นมีผู้ผลิต ชิพการ์ดสำหรับทำงานอยู่หลัก 2 เจ้าในตลาด นั่นคือ Nvidia (AKA. ค่ายเขียว) และ AMD (AKA. ค่ายแดง) ที่เรียกว่าผลิตตัวชิพการ์ดมาทั้งในส่วนของ Gaming และ Workstation นั่นเอง โดยในส่วนของ Gaming นั้นจะพิเศษหน่อยตรงที่ว่าแบรนด์ต่างๆ จะร่วมเอาชิพการ์ดจาก AMD/Nvidia นั้นจะเอาชิพการ์ดไปออกแบบกันเองต่อด้วย ซึ่งต่างกับ Workstation ที่ส่วนมากทาง AMD/Nvidia นั้นจะทำออกมาขายกันเองนั่นเอง โดยเราสามารถสังเกตว่าการ์ดจอตัวไหนเป็น Gaming หรือ Workstation ได้จากชื่อรุ่นตามด้านล่างนี้เลย
 

การ์ดจอออนบอร์ด กับ การ์ดจอแยกคืออะไร

           การ์ดจอแบบออนบอร์ด (On-board VGA) คือ การ์ดจอที่ในคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดโดยส่วนมากแบบออนบอร์ดนั้นจะมีมากับตัว CPU เลย ( CPU บางรุ่นก็ไม่มีนะต้องสอบถามก่อนซื้อดีๆ) โดยคุณภาพการ์ดจอแบบออนบอร์ดนั้นเรียกว่าใช้งานแก้ขัดดีกว่า สามารถใช้งานได้ปานกลาง ไว้ใช้ดูหนัง ฟังเพลง และ ใช้งานทั่วๆไป ถ้าเล่นเกมที่กราฟฟิคค่อนข้างหนักก็ไม่ไหวเหมือนกันนั่นเอง
           การ์ดจอแยก (VGA)  ตามที่เราได้พูดไป การ์ดจอแยกปัจจุบันมีตั้งแต่ตัวถูกไล่ไปแพง แต่ส่วนมากคุณภาพในการใช้งานนั้นจะดีกว่า On-Board VGA ในอีกระดับ การ์ดจอแยกนั้นต้องการช่อง PCI-E สำหรับเชื่อมต่อ VGA อย่างน้อย 1 ช่องนั้นเอง  
 

หลักพิจารณาในการเลือกซื้อการ์ดจอ

           อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ์ดจอในตลาดนั้นมีหลายรุ่น หลายแบรนด์ หลายพัดลม หลากสีสันมากๆ ถ้าเราจะเลือก VGA ดีๆต้องมีหลักการพิจารณาอะไรบ้าง วันนี้เรามาดูไปด้วยกันเลย 

1.ลักษณะการใช้งาน

 การ์ดจอนั้นมีหลายรุ่นอย่างที่ทราบกันดี โดยสเป็คก็จะแตกต่างกันออกไป โดยจำแนกตามการใช้งาน ซึ่งเราสามารถแบ่งเป็น 3 รุ่นหลักๆได้ดังนี้
           1. การ์ดจอทั่วไป หรือ ออนบอร์ด  :  เรียกได้ว่าเป็นการ์ดจอที่ใช้สำหรับทำงานทั่วไป ฟังเพลง เล่นเกมทั่วๆไปขำๆ ไม่ได้เล่นเกมกราฟฟิคระดับสูง พอไปวัดไปวาได้ส่วนมากก็จะเป็นรุ่นการ์ดรุ่น GT ของ Nvidia หรือ HD ของ AMD นั่นเอง
         2. การ์ดจอสำหรับทำงาน : เหมาะแก่การทำงาน Render กราฟฟิค ทำงานวาดภาพสเกล สำหรับคนที่ใช้งานโดยไม่เอามาเล่นเกมเป็นหลักนั่นเอง แต่ใช่ว่าการ์ดนี้ไม่สามารถเล่นเกมได้นะ ยังคงเล่นเกมได้แต่ประสิทธิภาพอาจจะไม่เท่ากับการ์ดจอเล่นเกมที่มีราคาเท่ากันนั่นเอง หรือพูดให้ถูกคือ เลือกให้ตรงกับการใช้งานจะดีที่สุด โดยการ์ดจอทำงานจะมีรหัสเป็น Quadro, Tesla ของ Nvidia และ Firepro, Vega  สำหรับ AMD 
           3. การ์ดจอสำหรับเล่นเกมส์ : หรือเรียกได้ว่าเป็นการ์ดจอที่พบเห็นได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไปนั่นเอง เป็นการ์ดจอที่ใช้เพื่อทำงานและเล่นเกมส์ โดยเหมาะแก่การแสดงผลที่ค่า Frame per second สูงๆ นอกจากนั้นยังเน้นในเรื่องของ Resolution ที่มีความละเอียดสูงอีกด้วย แต่จะมีข้อเสียที่กินไฟสูงกว่าการ์ดจอทำงานนั่นเอง โดยจะมีรหัสคือ Geforce GTX,Geforce RTX ของ Nvidia และ Radeon,Radeon RX ของ AMD นั่นเอง
 

2. จำนวน CUDA CORE (Nvidia) หรือ Stream Processor (AMD)

           เป็นอีกส่วนที่สำคัญมากในการพิจารณาการเลือกซื้อการ์ดจอ โดยเจ้า Core เหล่านี้จะทำหน้าที่คล้าย CPU เลยแต่หลายๆคนสงสัยทำไมมันถึงมีมากมายขนาด 1000-2000 cores ก็เนื่องมาจาก เจ้า Cores เหล่านี้ไม่ได้ทำงานแบบ Multitasking รวมไปถึงค่อนข้างช้ากว่า CPU อีกด้วย ซึ่งเจ้า Core เหล่านี้แหละที่ใช้ในการคำนวณ Pixel บนจอแสดงผลของเรานั่นเอง ซึ่งหมายความว่า ยิ่งมีจำนวนคอร์มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งแสดงผลภาพได้ไวขึ้นนั่นเอง

3. หน่วยความจำ (Memory)

         การ์ดจอนั้นจะมีหน่วยความจำสำหรับการรับส่งข้อมูลไปให้ CPU ประมวลผลโดย VGA บางรุ่นสามารถทำหน้าที่ประมวลผลแทน CPU ได้ ทำให้ CPU ไม่ต้องรับภาระในการประมวลผลนั่นเอง ซึ่งทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น นั่นเอง ซึ่งถ้าซีพียูมีหน่วยความจำมากๆ ก็จะรับข้อมูลจาก ซีพียูมากขึ้นนั่นเอง
           แต่สิ่งหนึ่งที่ควรทราบไว้คือต่อให้มีความจำเยอะมากแค่ไหนแต่ถ้า Bandwidth และ Bus width น้อยก็ไม่อาจให้ประสิทธิภาพดีๆได้นั่นเอง กล่าวคือ Bandwidth และ Bus Width นั้นเหมือนเป็นช่องทางการรับส่งข้อมูลซึ่งถ้าหากค่า Bus Width สูงก็เหมือนกับช่องทางที่กว้างสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นไหลลื่นขึ้นซึ่งต่อให้การ์ดจอที่มี RAM เพียง 3 GB มีค่า Bus Width สูงกว่าย่อมมีประสิทธิภาพกว่าการ์ดจอ RAM 4GB แต่มีค่า Bus Width น้อยนั่นเอง

4. ความเร็วในการประมวลผล (Clock speed)

           Clock speed หมายถึงความเร็วในการประมวลผลของ Core ภายในการ์ดจอนั้นๆภายใน 1 วินาทีนั่นเอง ยิ่งถ้ามีความเร็วในการ Clock speed มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ยกตัวอย่างเช่น  ใน 1 วินาที สามารถทำงานประมวลผลได้ 2 ล้านครั้ง ถ้ามี core อยู่ 2000 cores ก็หมายความว่า ใน 1 วินาทีจะแสดงผลได้  4000 ล้านพิกเซลนั้นเอง  ถ้ามีความเร็วเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งแสดงผลได้มากขึ้น ดีขึ้นนั่นเอง

5. ความเข้ากันได้กับ CPU ที่ใช้งานอยู่

           หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า คอขวด (Bottle Neck) กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจกัน มันก็คืออาการที่การ์ดจอกับ CPU ทำงานไม่สัมพันธ์กันเนื่องจาก มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันเกินไป ยกตัวอย่างเช่น เราใช้ CPU ที่ไม่ค่อยแรงมาก และการ์ดจอระดับท็อปแต่ เมื่อเล่นเกมไปสักระยะ เกิดอาการกระตุกทั้งๆที่ CPU ทำงานเต็มที่ 100% มันเกิดจากอาการคอขวดที่ CPU ประมวลผลไม่มัน และ ช้ากว่าการ์ดจอที่รอประมวลผลนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าเราควรจัดสเป็คให้มีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน ไม่เด่นหรือด้อยด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไปนั่นเอง

6. ระบบระบายความร้อนของการ์ดจอ

           เรียกว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราต้องพิจารณาเนื่องมาจากเมื่อมีการทำงานจ่ายไฟฟ้าเข้าไปก็ย่อมทำให้เกิดความร้อนและความร้อนย่อมทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานนั้นลดลงไปได้ถ้าไม่มีการระบายความร้อนนั่นเอง ซึ่งการระบายความร้อนใน VGA นั้นส่วนมากจะพิจารณาด้วยรูปแบบของจำนวนพัดลม ดีไซน์ใบพัด ไปจนถึง Copper Heat pipe หรือ ท่อทองแดงที่อยู่ภายในการ์ดจอนั่นเองยิ่งถ้ามี Heat pipe เยอะก็จะมีช่องทางให้ระบายความร้อนได้ไวยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

7. Power supply (PSU) พอหรือไม่

           เป็นอีก 1 ประเด็นสำหรับใครที่ต้องการอัพเกรดสเป็คเนื่องมาจากการ์ดจอเป็นสิ่งที่ใช้ไฟเยอะมากที่สุดและถ้าหากเรามี Power Supply ตัวที่ดีมีประสิทธิภาพ มันก็จะสามารถจ่ายกระแสไฟไปเลี้ยงได้เพียงพอและในขณะเดียวกันถ้าหากเรามี Power Supply ที่ไม่สัมพันธ์หรือมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากับตัวการ์ดจอก็อาจจะทำให้ชิ้นส่วนบางตัวในคอมพิวเตอร์ของเรานั้นไหมก็ได้ ทางที่ดีควรพิจารณาในส่วนนี้เพิ่มเติมไปด้วย

8. เหมาะสมกับ Case ที่เราใช้หรือไม่

           การ์ดจอนั้นมีรูปแบบ Form factor อยู่หลากหลายแบบ ดังนั้นก่อนจะทำการซื้อควรจะศึกษาให้ดีก่อนว่า เราสามารถนำมันใส่ประกอบไปได้จริงๆหรือไม่ เพราะบางทีเคสอาจจะสั้นเกินไป หรือ ไปติดอุปกรณ์อื่นๆได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเล่นเคสแบบ Mini ITX จะให้ใส่แบบ 3 พัดลมก็คงทำไม่ได้ ดังนั้นก็ควรจะเล่นการ์ดแบบ Mini ด้วยเช่นกัน

SLI Bridge หรือ Crossfire จำเป็นหรือไม่ ?

           SLI หรือ Crossfire คือ การทำงานแบบ Multi-GPU หรือการทำงานโดยใช้การ์ดจอ 2 ใบขึ้นไปช่วยกันประมวลผลนั่นเองโดย SLI เป็นชื่อเรียกของ Nvidia ส่วน Crossfire เป็นชื่อเรียกของทาง AMD โดยมีข้อจำกัดว่าการทำ SLI หรือ  Crossfire นั้นต้องใช้การ์ดจอที่อยู่ใน Series เดียวกัน ใกล้เคียงถึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ทีดี และแน่นอนว่าการต่อการ์ดจอ 2 ตัวย่อมทำให้เกิดการประมวลผลได้เร็วขึ้น มีค่า fps ที่สูงขึ้น แต่! สิ่งที่ตามมานั่นคือ ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานการ์ดจอ 2 ใบนั่นเอง ซึ่ง FPS ที่สูงขึ้นจริงๆนั้น อาจจะผลักดันได้นิดหน่อย ถ้าเราไม่ได้ใช้การ์ดจอที่ตันสุดทางราคาสุดแพงจริงๆ ก็ไม่สมควรที่จะทำนั่นเอง 
 

เกร็ดเล็กน้อยที่ควรทราบ

           - Resolution และ Refresh rate ก็ตรงกัน เคยไหมครับเรามี Monitor 144Hz แต่พอใช้งานจริงรู้สึกไม่ต่างอะไรกับ 60hz เลยเนื่องมาจากการลืมปรับตั้งค่า refresh rate  ในส่วนนี้นั่นเอง
           - เช็ค Port ของการ์ดจอให้ดีว่าเป็นแบบไหน อะไรบ้าง กี่พอร์ตกี่จอ ยกตัวอย่างเช่นจอของเรามีช่องพอร์ตแบบ VGA และ DVI-D เท่านั้นแต่ จอของเรามีแค่ช่อง HDMI และ DISPLAY PORT ก็จะทำให้เรามีปัญหาในการเชื่อมต่อจอได้ด้วยเช่นกัน
           - เฟิร์มแวร์และไดรเวอร์สำหรับการใช้งานของการ์ดจอแบบ Workstation และ Gaming นั้นจะถูกออกแบบมาให้รองรับการทำงานต่างกันเพื่อประสิทธิภาพของการ์ดจอนั่นเอง โดย Workstation นั้นจะถูกออกแบบมาเพื่อรีดประสิทธิภาพของการ์ดจอ แต่ถ้าเป็น Gaming จะเน้นไปที่ประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับ CPU เพื่อให้มีภาพของเกมออกมาดีที่สุดนั่นเอง
           - ถ้าให้เลือกถามว่าระหว่าง Nvidia และ AMD ค่ายไหนดีที่สุดนั้นตอบได้เพียง ทั้ง 2 ค่ายมีข้อดี และ ข้อด้อยต่างกัน ล้วนแล้วแต่ดีด้วยกันทั้งคู่ อยู่ที่เราชอบเลยว่าอยากลองค่ายไหนมากกว่ากันนั่นเอง
            - การวางการ์ดจอ หลายๆคนคงเคยเห็นการวางการ์ดจอในแนวตั้ง ซึ่งการวางแนวตั้งนี้ต้องพิจารณาจากตัวเคสว่ามี Slot รองรับหรือไม่ และเราจำเป็นต้องมีสาย Riser เพื่อเชื่อมระหว่าง Mainboard และ VGA เข้าด้วยกัน อีกทั้งผลเสียจากการวางการ์ดจอแนวตั้งอาจจะทำให้เกิด Airflow ไหลผ่านน้อยลงจึงทำให้เกิดอุณหภูมิการ์ดจอสูงได้อีกด้วย ดังนั้นการวางแนวของการ์ดจอก็จำเป็นต้องคิดดีๆว่า เราใช้งานการ์ดจอหนักไหม มีระบบระบายความร้อนที่ดีพอหรือเปล่านั่นเอง

สรุปสุดท้าย

           หวังว่าคนที่ได้อ่านกันแล้วก็คงจะพอทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการ์ดจอยิ่งขึ้น และ เราควรเลือกใช้อุปกรณ์ให้เข้ากับงาน  ความจำเป็นในการใช้งาน หรือ งบประมาณ ของเรานั่นเอง มองดูแล้วก็ไม่ได้ยากเกินไปใช่ไหมหละ มาลองจัดสเป็คกันได้ที่นี่ หรือ ถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถทักเข้ามาถามได้ที่เพจ ComputeAndMore ได้เลยเพราะที่นี่คืออีกระดับของคุณภาพ