ภาษาไทย

บทความ / รีวิว

บทความ / รีวิว

images/d4a3c400-00fd-45a0-88dc-634c3e56f1b5.jpg

การดูแลรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์

Posted 29.07.2021 | รอบรู้เรื่องคอมพิวเตอร์

เมื่อเรามีอุปกรณ์อะไรก็ตามสำหรับใช้งานด้านต่าง ๆ ก็ต้องมีการดูแลรักษา ตรวจเช็กสภาพการทำงานต่าง ๆ ว่ายังสามารถทำงานได้ดีหรือไม่ และคอยจัดการดูแลต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน ไม่เสียหายหรือพังไปก่อนวัยอันควร ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์เอง ก็นับเป็นอุปกรณ์อีกอย่างที่จำเป็นต้องใส่ใจดูแลด้วยเช่นเดียวกัน จะมากหรือน้อย ก็อาจแตกต่างกันไปตามความสะดวก และอุปกรณ์ที่เลือกมาใช้งานของแต่ละคนแต่ละเครื่อง

เราขอนำเสนอขั้นตอนและวิธีการดูแลรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อให้สามารถถนอมเครื่อง ใช้งานกันได้ยาว ๆ คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปกันมากที่สุด แบบเข้าใจง่าย เป็นขั้นเป็นตอน เอาไว้ในบทความนี้ครบเครื่อง ว่าแล้วก็มาไล่ดูกันไปในแต่ละชิ้นส่วนกันเลย

อุณหภูมิความร้อน

เรื่องความร้อนของตัวเครื่อง ถือเป็นเรื่องซีเรียสมากที่สุด เพราะนี่คือสาเหตุหลักที่มักทำให้เครื่องเสียหายก่อนวัยอันควร เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นทำงาน จะมีการสร้างความร้อนขึ้นมาภายใน มีชิ้นส่วนหลายชิ้นที่สร้างความร้อน และจะต้องมีระบบระบายความร้อนเหล่านี้ด้วยพัดลมหรือหม้อน้ำ เมื่อใช้งานไปสักระยะใหญ่ ๆ ต้องหมั่นตรวจเช็กอุณหภูมิของชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะ CPU และการ์ดจอ ว่าสูงผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจเกิดจากระบบระบายความร้อยเสียหาย ทำให้อุณหภูมิไม่ถูกระบายจนความร้อนพรุ่งขึ้นสูง และอาจทำให้ชิ้นส่วนเสียหายนั่นเอง

อีกจุดที่ต้องหมั่นทำความสะอาด ก็คือพัดลมและหม้อน้ำ เพราะเมื่อใช้งานไปสักระยะใหญ่ ๆ ก็จะเริ่มมีฝุ่นเข้าไปติดสะสมเป็นจำนวนมาก และกลายมาเป็นตัวขัดขวางทางเดินลมกับการกระจายความร้อนออกไป ส่งผลให้ระบายความร้อนได้ไม่ดีจนอุณหภูมิสูงขึ้นนั่นเอง

อีกจุดที่มักจะมีการอุดตันของฝุ่น นั่นก็คือตามช่องตะแกรงให้อากาศเข้าและออกของตัวเคส ส่วนใหญ่แล้วจะมีการติดตะแกรงแบบถอดได้เอาไว้ สามารถถอดออกมาเคาะหรือเป่าฝุ่นที่เกาะติดอยู่ออกไปได้ แล้วนำกลับไปติดปิดไว้ที่ปากช่องเดิม ให้อากาศสามารถกลับมาไหลเวียนได้สะดวกเหมือนใหม่

ระบบจ่ายไฟฟ้า

เครื่อง UPS ยี่ห้อ APC

อันนี้ก็นับเป็นอีกสาเหตุยอดฮิตที่มักจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เสียหาย หลัก ๆ แล้วคืออาการของไฟตก ไฟกระชาก จากระบบไฟของบ้านหรือที่พักอาศัยที่วางเอาไว้ไม่ค่อยดีนัก สามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์สำรองไฟ UPS ที่จะเป็นตัวกรองไฟให้นิ่งเสถียร และยังสามารถสำรองไฟเอาไว้ในตัว เพื่อให้เครื่องยังสามารถใช้งานต่อได้แม้ไฟจะดับ ทำให้ปิดเครื่องได้อย่างสมบูรณ์ เซฟไฟล์งานที่ทำเอาไว้ต่าง ๆ ก่อนได้ ไม่ต้องเสี่ยงเจออาการไฟล์งานที่ทำไว้หาย หรือระบบ Windows พังต้องติดตั้งใหม่

หรือถ้าหากว่ายังไม่มีงบสำหรับเครื่องสำรองไฟ UPS ก็แนะนำให้ลองดูเป็นปลั๊กไฟต่อขยายหรือปลั๊กพ่วง ที่มีระบบป้องกันไฟกระชาก Surge Protection กันแรงไฟสูงผิดปกติมาสร้างความเสียหายให้เครื่องของเรา แม้ว่า PSU รุ่นใหม่ ๆ หลายตัวทุกวันนี้ จะมีระบบมาให้ไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าการป้องกันอีกชั้นในราคาหลักไม่กี่ร้อยบาท จะช่วยถนอม PSU ราคาหลายพันบาทไว้ได้อีกขั้น ก็ดูเป็นการลงทุนที่ไม่แพงและคุ้มค่า เพราะเรายังสามารถเอาอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ มาเสียบต่อกับปลั๊กพ่วงตัวนี้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

สายไฟ

ต่อเนื่องจากระบบจ่ายไฟไปแล้ว ก็มาถึงเรื่องของการจัดเก็บสายไฟภายในให้เป็นระเบียบ เพราะการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายชิ้นนั้นต้องทำผ่านสายไฟจากเมนบอร์ดและ PSU และหลายชิ้นก็ต้องเดินไปยังตำแหน่งที่จัดเก็บติดตั้ง หากว่าจัดเก็บให้เป็นระเบียบไม่ดี ปล่อยระเกะระกะอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ สายไฟอาจก่อให้เกิดปัญหาอย่างเช่นไปขัดรั้งกันจนสายอาจขาดหรือหัวต่อหลุดออกจากกัน ทำให้เกิดความเสียหายขั้วหัวต่อที่โดนรั้งเป็นระยะเวลานาน และยังสามารถจัดการปัญหาภายหลังต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าอีกด้วย

ซึ่งถ้าหากว่าทำเองไม่เป็นหรือต้องการคำแนะนำ สามารถติดต่อสอบถามกับร้าน Compute and More ของเราได้เลย ส่วนใครที่เป็นลูกค้าของเราอยู่แล้ว สบายใจหายห่วงได้ เพราะเราจัดเก็บสายไฟให้ลูกค้าของเราทุกเครื่องเป็นอย่างดี และพร้อมแก้ไขให้ทันทีหากพบเจอปัญหางานประกอบตรงส่วนใดก็ตาม

ไวรัส มัลแวร์ ซอฟต์แวร์

อีกปัญหาที่พบเป็นประจำคือเรื่องของซอฟต์แวร์ภายในตัวเครื่อง หรือระบบ Windows นั่นเอง ที่มักจะติดไวรัสมัลแวร์ต่าง ๆ มาแบบไม่รู้ตัว โดยที่ผู้ใช้งานนั้นไม่ทราบต้นสายปลายเหตุว่ามาจากไหน อันนี้ก็นับว่าไม่ได้แปลกอะไร เพราะช่องทางในการติดไวรัสต่าง ๆ นั้นมีหลายวิธีด้วยกัน แต่หลัก ๆ ก็มักจะมาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มักจะมีการขออนุญาตติดตั้งซอฟต์แวร์เครื่องมือเพิ่มเติม และเมื่อผู้ใช้ไม่ทันระวัง กดอนุญาตติดตั้งมาแบบทั้ง ๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นเครื่องมืออะไร ใช้ทำอะไร หรือเชื่อถือได้หรือไม่ ก็ตกเป็นเหยื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อติดเข้ามาในเครื่องก็มักจะชอบแสดงโฆษณาอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้ไปคลิกโดนอะไรเลยด้วยซ้ำ

อีกจุดที่มักจะติดกันมาก คือการเอาแฟลชไดรฟ์จากเพื่อนที่ติดไวรัสมาเสียบกับเครื่องของเราเพื่อเปิดไฟล์ อันนี้สามารถแก้ปัญหาได้จากการแชร์ไฟล์กันผ่านบริการไดรฟ์ฝากไฟล์ต่าง ๆ อย่าง Google Drive หรือ Microsoft OneDrive แทนได้ เพราะบริการเหล่านี้จะมีระบบสแกนไวรัสไว้ด้วยในตัว
อีกวิธีป้องกันคือการติดตั้งชุดโปรแกรมป้องกันไวรัส ที่สามารถสแกนเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าปลอดภัยต่อการใช้งานหรือไม่ และยังสามารถสแกนแฟลชไดรฟ์ที่เอามาเสียบต่อกับเครื่องของเราได้ด้วย ว่ามีเชื้อไวรัสมั้ย เพื่อที่จะทำการลบเชื้อนั้นออกไปหรือกักไว้ไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่อระบบเครื่องของเรา


สามารถเลือกซื้อสินค้าคอมพิวเตอร์ได้ที่ https://computeandmore.com/
หรือจัดสเปคคอมได้ที่ https://computeandmore.com/custom-spec
เลือกอ่านบทความอื่นๆของ Compute And More ได้ที่ https://computeandmore.com/blogs