ภาษาไทย

บทความ / รีวิว

บทความ / รีวิว

images/b5b1f068-5ab5-4feb-b056-18a39a66804f.jpg

Sound Card คืออะไร จำเป็นขนาดไหน ?

Posted 22.06.2020 | รอบรู้เรื่องเกมมิ่งเกียร์

          ปฏิเสธไม่ได้เลยสำหรับใครที่เล่นเกมหรือเป็นเกมเมอร์แล้ว ย่อมที่จะมีหูฟังเกมมิ่งติดไว้เพื่อใช้ในการฟังเสียง จำแนกเสียงเกม รวมไปถึงต่างๆนานา เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการเล่นเกมของเราให้ดีขึ้น แต่ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มความสามารถของหูฟังเกมมิ่งของเรานั้นให้มีสมรรถนะมากยิ่งขึ้นนั่นก็คือ “Sound Card” นั่นเอง แล้ว Sound Card นั้นดียังไงสำคัญยังไงวันนี้ ComputeAndMore มีคำตอบ

Sound Card คืออะไร

          Sound Card คือ แผงวงจรที่สร้างและขยายเสียงสัญญาณต่างๆแล้วส่งไปยังแหล่งกำเนิดเสียง เช่น ลำโพง หรือ หูฟัง โดยในปัจจุบันตัวเทคโนโลยีของ Sound Card ระดับสูงๆนั้นสามารถทำให้ลำโพงภายในบ้านของเรากลายเป็นโฮมเธียเตอร์ได้เลยทีเดียว โดยในปัจจุบันจะมีหลากหลายแบรนด์ที่เป็นผู้ผลิต Sound Card  ไม่ว่าจะเป็น Asus , Beyerdynamic , Creative , HyperX , Sennisher หรือ Zowie เป็นต้น


Sound Card ดีไม่ดีสังเกตจากอะไร

          บางคนเคยพูดว่า เสียงที่ดี คือ เสียงที่ดัง จริงๆแล้วมันไม่ถูกต้องทั้งหมดครับในเรื่องของ Sound Card เนื่องมาจากตัวของ Soundcard นั้นยังมีหลายๆปัจจัยมากๆที่จะต้องพิจารณาได้ว่าเสียงที่ออกมานั้นดีหรือไม่ดี แต่การสังเกตว่า Sound Card นั้นมีคุณภาพดีหรือไม่นั้นสังเกตุได้จาก 2 ปัจจัยคือ อัตราการสุ่มตัวอย่าง และ ความแม่นยำของตัวอย่างที่ได้ ซึ่ง ความแม่นยำของตัวอย่างนั้นถูกกำหนดโดยความสามารถของ A/D Converter ว่าจะมีความละเอียดมากหรือน้อยขนาดไหน และ ทำอย่างไรจึงจะประมาณค่าสัญญาณดิจิตอลได้ใกล้เคียงกับเสียงสัญญาณมากที่สุด ซึ่ง ความละเอียดของ A/D Converter กำหนดโดยจำนวนบิตของสัญญาณ Output เช่น ถ้ากำหนด A/D Converter 8 Bit จะสามารถแสดงค่าที่ต่างกันได้ถึง 256 ระดับ และถ้า A/D Converter 16 Bit สามารถแสดงค่าได้ 65,536 ระดับ หมายความว่ายิ่งจำนวนระดับมากขึ้น จะทำให้เสียงละเอียดยิ่งสูงขึ้นและการผิดเพี้ยนของสัญญาณนั้นจะน้อยลง กล่าวคือประสิทธิภาพของเสียงที่ได้รับดีขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนบิตต่อหนึ่งตัวอย่างนั่นเอง

Sound Card มีความจำเป็นแค่ไหน

          ปัจจุบัน Mainboard ของ PC แทบทุกตัวนั้นล้วนแล้วแต่ติดตั้งวงจรแสดงผลประมวลเสียงและส่งออก มาแล้วในตัวเมนบอร์ดทั้งสิ้น หรือ ที่เราเรียกกันว่า Sound Card on Board จึงทำให้ความจำเป็นในการซื้อ Sound Card แบบ PCIe ลดลงมา หรือ บางคนอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป ถามว่าใช่ไหมก็ใช่บางส่วนครับ เพราะในเมนบอร์ดรุ่นราคาไม่แพง ก็มี Sound Card อยู่จริง แต่เสียงที่ได้รับก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดนั้น เช่นเดียวกันกับ Mainboard รุ่นสูงๆบางรุ่นที่มีการนำเทคโนโลยี Sound Card มาติดตั้งให้กับเมนบอร์ดแต่ก็อาจจะไม่ถูกใจเราเช่นกัน ดังนั้น Sound Card จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าถึงคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นแน่นอน ถ้าคุณเป็นคนที่รักในเสียง หรือ ต้องใช้ในการทำงานที่จำเป็น

รูปแบบของ Sound Card   

          อย่างที่ผมได้กล่าวตอนเริ่มบทความไปว่า Sound Card นั้นมีหลายแบรนด์หลายยี่ห้อที่เราสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสินค้า IT แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับประเภทของ Sound Card นั้นต้องมารู้จักกับรูปแบบของ Sound Card ที่นิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ก่อนว่า มี 2 แบบ คือ 

              1. แบบออนบอร์ด ( Sound on Board ) เป็นระบบเสียงตามมาตรฐาน AC’97 จะอยู่ในรูปแบบของ Chipset เสียงถูกติดตั้งไว้บนเมนบอร์ดพร้อมใช้งานได้ทันที
              2. แบบตัวการ์ดเสียง ( Sound Card ) เป็นระบบเสียงที่ได้คุณภาพดีกว่าแบบออนบอร์ด โดยส่วนมาก Sound Card จะเสียบลงช่องสล็อต PCI บนเมนบอร์ดนั่นเอง

ชนิดของ Sound Card

          ในส่วนชนิดของ Sound Card จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 
1. แบบ INTERNAL จะใช้เชื่อมต่อกับเมนบอร์ดโดยตรงผ่าน Slot ที่รองรับเช่น ISA หรือ PCI โดย Sound Card แบบ Internal จะมี 2 แบบดังนี้

            1.1 แบบ ISA ( Industry Standard Architecture ) คือ การ์ดเสียงแบบ Internal ซึ่งผลิตออกมานานแล้วจะใช้ร่วมกับเมนบอร์ดรุ่นเก่าที่มีสล็อต ISA ระบบเสียงยังไม่ได้คุณภาพ เป็นที่นิยมในสมัยก่อนแต่ปัจจุบันเลิกใช้กันไปนานแล้ว

               1.2 แบบ PCIe ( Peripheral Component Interconnect ) คือ การ์ดเสียงแบบ Internal ซึ่งถูกผลิตออกมาให้สามารถใช้เชื่อมต่อกับเมนบอร์ดยุคปัจจุบันซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเนื่องจาก สามารถสังเคราะห์เสียงได้อย่างมีคุณภาพและมีราคาไล่ไปตั้งแต่ถูกยันแพง ตามระดับคุณภาพเสียงที่เราอยากได้นั่นเอง

           2. แบบ External  ในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตและใช้งานให้เห็นมากยิ่งขึ้นอีกทั้งยังมีการติดตั้งที่แตกต่างจาก Soundcard แบบ Internal อีกด้วย ซึ่งการเชื่อมต่อของ External นั้นสามารถเชื่อมต่อผ่านทางสาย USB ซึ่งก่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อการใช้งานขึ้นมากๆอีกด้วย


Sound Card Gaming ตัวไหนน่าโดน

    หลังจากที่เราได้รับรู้เบื้องต้นถึง Sound Card แล้วก็ถึงเวลาการชี้เป้า Sound Card ดีๆสำหรับใช้ในการเล่นเกมกันบ้าง โดยวันนี้ที่ ComputeAndMore จะมาแนะนำมีทั้งหมด 4 รุ่น นั่นคือ Creative Sound BlasterX G6, Zowie Vital 2.1 Audio System , Sennheiser GSX1000 และ Creative Sound Blaster AE-7 นั่นเอง

Creative Sound BlasterX G6 Gaming DAC and External USB Sound Card

          มาถึงตัวแรกกับแบรนด์ที่หลายๆคนคุ้นหูกับ Creative แม้ในปัจจุบันนี้ที่ Mainboard ต่างๆได้มีการพัฒนา Sound Card ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ Creative เองก็ยังสรรสร้างค์ Sound Card แบบ External ดีๆออกมาเรื่อยๆ เช่น Creative Sound BlasterX G6 ก็เป็น Soundcard ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานเกมมิ่งที่ต้องการเล่นเกมด้วยเสียงระดับคุณภาพรายละเอียดสูงที่ระดับ 32Bit , 384kHz แล้วนอกจากเทคโนโลยีระบบเสียง และ การจัดการที่เป็นจุดเด่นของ Creative Sound Blaster แล้ว เจ้าตัว G6 ยังมาพร้อมกับภาคขยายเสียงหูฟังแบบ XAMP DISCRETE ที่ทำให้แยกเสียงซ้ายและขวาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง อีกทั้งตัว SoundCard ยังสามารถใช้งานในระบบ 7.1 ได้อีกด้วย กล่าวคือถ้าใครเล่น PUBG แล้วต้องการ Soundcard เทพๆเล่นคู่กับหูฟังเทพๆอย่าง Beyerdynamic MMX300 แล้ว ต้องมีชื่อของ Creative Sound BlasterX G6 Gaming DAC ขึ้นมาในหัวแน่นอน

Zowie Vital Sound System

          เป็นอีกแบรนด์นึงที่ผลิตเกมมิ่งเกียร์ชั้นนำใครหลายๆคนอาจจะคุ้นหูคุ้นเคยกับเมาส์ของ Zowie มากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆแต่ก็อยากจะบอกว่า Zowie เองก็ผลิต Soundcard จำหน่ายเหมือนกันนะ ซึ่งก็คือ Zowie Vital นั่นเอง โดยเจ้า Zowie Vital เป็น DAC Amp ที่ออกแบบมาเพื่อเล่นเกมโดยเฉพาะ ใช้งานผ่าน TouchScreen ทั้งหมด จุดเด่นของ Zowie Vital อยู่ที่ฟังก์ชันการเสียงไมโครโฟนที่ได้พูดแล้วยินเสียงชัดและคมมากขึ้น ลดเสียง Noise ต่างๆ ออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเมื่อมาดูในเรื่องรายละเอียดเสียง Zowie Vital ก็สามารถผลักดันเสียงได้สูงถึง  24bit 96kHz ซึ่งถือว่าดี อีกทั้งกำลังขับของ Zowie Vital ยังสามารถขับเสียงได้สูงถึง 250 Ohm และใช้ Chipset ระดับ Audio Grade ทำให้ได้คุณภาพในรายละเอียดสูงมาก แต่ สำหรับใครที่ฟังเสียง 7.1 จะไม่มีในตัวนี้นะครับ

Sennheiser GSX 1000 DAC-AMP

          มาถึงอีกแบรนด์จากเยอรมันที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับเรื่องระบบเสียงเป็นอย่างมากอย่าง Sennheiser ที่หันมาทำอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมเกมมิ่งเช่นเดียวกัน โดยตัว Soundcard ที่แนะนำก็จะเป็น Sennheiser GSX1000 ซึ่งเป็น DAC-AMP ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเกมเมอร์โดยเฉพาะ ทั้งรูปลักษณ์ดีไซน์ จอสัมผัสแบบ Touchscreen , ฟังก์ชันปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างหูฟังและลำโพงในปุ่มเดียว , การปรับ Equalizer อัตโนมัติ 3 โหมด ( Music, E-Sports และ Movie ) อีกทั้งใครที่ชอบการฟังเสียง Surround แบบ 7.1 ก็สามารถเลือกเจ้า GSX1000 ไปใช้งานได้อย่างไม่ผิดหวัง เพราะคุณภาพเสียงสมจริงอย่างกับอยู่ในเหตุการณ์จริงโดยตัว 7.1นั้นสามารถผลักดันเสียงได้สูง 16bit 48.0kHz ถ้าเป็น 2.0 stereo จะผลักดันเสียงได้ที่ 24bit 96kHz นั่นเอง ถือว่าเจ๋งทั้งเสียงแบบ 2.0 และ 7.1 คอเกม คอหนังไม่ควรพลาด !

Creative Sound Blaster AE-7   

          หลังจากที่ได้แนะนำ Sound Card แบบ External กันไปเยอะแล้วก็ถึงเวลาแนะนำ  Sound Card แบบ Internal กันบ้าง โดย Sound Card ที่เราจะนำมาแนะนำนั่นก็คือ Creative Sound Blaster AE-7 นั่นเอง Sound Card ตัวนี้จะมีจุดมุ่งเน้นไปที่คุณภาพเสียง สำหรับดูหนังและฟังเพลงเป็นสำคัญ โดย Creative Sound Blaster AE-7 จะมาพร้อมชิป DAC ESS SABRE9018 ที่รองรับการเล่นไฟล์เสียงรายละเอียดสูง 32bit 384 kHz และ DSD64 มีความเพียนต่ำเพียง 0.0001% แต่ถึงแม้ว่าจะเน้นดูหนังและฟังเพลง แต่ก็ยังไม่ทิ้ง Scout Mode ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการแยกแยะตำแหน่งของคู่ต่อสู้ในเกมอีกด้วย อีกทั้ง Sound Card ตัวนี้ยังรองรับเสียงแบบ 5.1 Surround และ 7.1 Surround อีกด้วยถือว่าซื้อมาฟังเพลงก็ยอดเยี่ยม ซื้อมาเล่นเกมก็ดีไม่แพ้กันนั่นเอง


สรุปสุดท้าย

          หลังจากที่ได้ทุกคนได้ลองอ่านบทความนี้ไปน่าจะพอทราบกันแล้วนะครับว่า เราจำเป็นหรือไม่จำเป็น โดยการใช้ Sound Card แยกไปนั้นมีข้อดีในเรื่องของคุณภาพเสียงที่เราจะได้รับเพิ่มขึ้น สุนทรีย์มากขึ้น นั่นเอง ส่วนข้อเสียคือ มีราคาแพงและไร้ความจำเป็นถ้าเราไม่ได้ใช้งานอย่างเป็นประจำ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าชอบเสียงแบบไหน โทนไหน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ Sound Card สักตัวก็ต้องอ่านข้อมูลให้ดีก่อนว่าจะเอามาใช้กับเกมหรือฟังเพลงนั่นเอง แต่ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมก็ทักมาสอบถามได้ที่เพจ ComputeAndMore เพราะที่นี่คืออีกระดับของคุณภาพ