ภาษาไทย

บทความ / รีวิว

บทความ / รีวิว

images/a8777e36-3c08-4f14-995d-bd0c0b8a7922.jpg

Mechanical keyboard ต่างกับ Keyboard ทั่วไปต่างกันอย่างไร อ่านที่นี่ ที่เดียวจบ!

Posted 30.03.2020 | รอบรู้เรื่องเกมมิ่งเกียร์

          เวลาเราจะเลือกซื้อคีบอร์ดซักตัวหนึ่ง นอกจากยี่ห้อแบรนด์และการรูปทรงถูกใจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมากในการเลือกนั่นคือสวิตช์ (Switch) โดย สวิตช์ เรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญของ Mechanical Keyboard เลยก็ว่าได้ เมื่อกดปุ่มแล้ว กลไกสวิตช์ข้างใต้ปุ่มนั้นจะทำงาน ทำให้เกิดไฟฟ้าไหลผ่านแล้วแปลงสัญญาณส่งข้อมูลผ่านพอร์ตไปยังคอมพิวเตอร์ว่ากำลังกดปุ่มอะไร ซึ่งประเภทของคีย์บอร์ดจะถูกแบ่งได้โดยประเภทของสวิตช์นั่นเอง ซึ่งประเภทของสวิตซ์นั้นมีหลากหลายแบบมาก ไล่ไปตั้งแต่ Rubber Dome,Mechanical,Membrane,Optical และอีกหลายๆอย่างที่แต่ละแบรนด์นำมาพัฒนาและต่อยอดนั่นเอง โดยวันนี้ ComputeAndMore จะไล่ให้ฟังตั้งแต่ถูกจนแพงกัน

RUBBER DOME 

          มาถึงตัวแรกกับสวิตซ์ Rubber Dome โดย Rubber Dome นั้นแทบจะพูดได้เลยว่าคนที่เล่นคอมพิวเตอร์ทุกคนเคยสัมผัส ลูบไล้ เคล้าคลึงมาก่อนอย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นคีบอร์ดสามัญประจำบ้านเลยก็ว่าได้ ซึ่งตัวคีบอร์ดนี้จะมีข้อดีที่ราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย เมื่อเราแกะคีบอร์ดออกมาจะเห็นลักษณะเหมือนแผ่นซิลิโตนยางแผ่นใหญ่ครอบไปทั้งแผงวงจรและมีรูปกรวยปุ่มทั้งแผ่น โดยแผ่นยางนี้จะทำหน้าที่เป็นสปริงใช้ในการรองรับแรงกดและคืนรูปคีบอร์ด และยังเป็นสวิตซ์ โดยด้านในของแผ่นยางจะมีสารนำไฟฟ้าฉาบไว้อยู่ด้านล่างเมื่อมีการกดจะทำให้เกิดการช็อตแผงวงจรที่อยู่ด้านล่างและมีไฟฟ้าไหลผ่านแล้วแปลงสัญญาณไปยังคอมพิวเตอร์ โดยตัวคุณภาพของคีบอร์ดแบบ Rubber Dome นั้นแทบจะเหมือนๆกันหมด ต่อให้พัฒนาให้เงียบขึ้นมากมายแค่ไหน ก็ยังคงเป็นคีบอร์ดยางอยู่ดีเพียงแต่จะมีลูกเล่นออฟชั่นเพิ่มขึ้นตามราคาเท่านั้น อายุการใช้งานและความทนทานของสวิตซ์แบบ Rubber Dome จะอยู่ราวๆ 1-10 ล้านครั้ง เท่านั้นเอง


SCISSOR SWITCH

          เป็นสวิตช์ที่พัฒนาต่อยอดจาก Rubber Dome แต่จะเปลี่ยนจากโดมยางให้กลายเป็นพลาสติก 2 ชิ้นไขว้กันมีรูปร่างคล้ายคลึงกับกรรไกรทำให้คีบอร์ดมีลักษณะสั้น และมีเสียงที่เรียกได้ว่าค่อนข้างเบากว่า Rubber Dome ทั่วๆไป มักจะพบเห็นสวิตช์แบบนี้ได้ตาม Laptop เป็นต้น


SEMI MECHANICAL OR MECHA-MEMBRANE 

          ที่จริงถ้าจะพูดถึงสวิตซ์ตัวนี้ควรจะมาในลำดับหลังๆเนื่องจากพัฒนามาจาก Rubber Dome และ Mechanical มารวมกัน โดยเอาฟิลลิ่งการกดของ Mechanical มาดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบยาง สำหรับคนที่ต้องการใช้งานคีบอร์ดฟิลลิ่งเหมือน Mechanical แต่ยังไม่พร้อมจ่ายราคาแพงนั่นเอง โดยคุณลักษณะการทำงานคล้ายกับตัวคีบอร์ดแบบ Rubber Dome คือโซนด้านล่างใช้ Rubber Dome แผ่นยางรองรับ ส่วนด้านบนเพิ่มลูกเล่นเสียงคล้ายกับ Mechanical เข้ามาเพิ่มไฟ RGB นิดหน่อยเป็นอันใช้ได้ แต่ถ้าพูดถึงมุมภาพรวมในเชิงคุณภาพแล้ว มันก็ยังเป็นคีบอร์ดยางอยู่ดี


MECHANICAL SWITCH

          มาถึงสวิตช์พระเอกตัวชูโรงของบทความของเรากันแล้ว โดยสวิตช์แมคคานิคอลนั้นเรียกได้ว่าแทบจะเป็นที่นิยมและคุ้นเคยมากๆสำหรับเกมเมอร์และคนใช้งานคอมพิวเตอร์นั้นบ้านเรา โดยชื่อที่คนไทยเคยได้ยินการเรียกสวิตช์นี้จากแบรนด์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Cherry MX switch, Kailh Switch, Romer G , Outemu เป็นต้น โดยชื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้ชื่อว่าสวิตช์แมคคานิคอลเหมือนกันหมดจะต่างกันเพียงที่วัสดุและเทคโนโลยี โดยส่วนมากจะทำให้สวิตช์มีหน้าตาเป็นรูปเครื่องหมาย + จะมีบางแบรนด์ที่ทำสวิตช์ของตัวเองแล้วดัดแปลงให้ไม่เหมือนใครเช่น Romer G , Topre , Buckling Spring , QS เป็นต้น โดยต้นตำหรับการผลิตนั้นมาจากบริษัท Cherry ของเยอรมัน แต่หลังจาก สิทธิบัตรหมดอายุประมาณปี 2012-2013 ก็ทำให้หลายๆ บริษัทพัฒนาสวิตช์ออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึง และเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภค บริษัทส่วนมากจึงพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีโดยใช้มาตราฐานของ Cherry ที่ทำไว้ก่อน คือการใช้ “สี” ในการระบุความแตกต่างของสวิตช์ และมีประเภท ออกไปโดย สวิตช์สำหรับ Mechanical Keyboard ที่มีแกนเป็นรูปบวกไม่ว่าจะเป็น Cherry , Kailh, Outemu, Razer เป็นต้น นั้นจะสามารถแบ่งออกไปได้ 3 แนวหลัก ๆ  ดังนี้

Clicky Switch

          สำหรับตัว Clicky นั้นเรียกได้ว่าเป็น Popular of Mechanical Keyboard ในยุคแรกๆเลยก็ว่าได้เนื่องจากเอกลักษณ์ในเรื่องของเสียงต๊อกแต๊กๆ กดสนุก และแทบจะสวิตช์คีบอร์ดตัวแรกของคนที่เปลี่ยนจาก Rubber Dome มาเป็น Mechanical เป็นซึ่งประเภทสีของตระกูล Clicky นั้นจะมีอยู่ 3 สีคือ ฟ้า (Blue), ขาว (White) และ เขียว (Green) โดยจะไล่ชนิดตามแรงของการกดไปตามลำดับ เพราะสปริงที่อยู่ภายในการสปริงจะไล่จากอ่อนไปแข็งนั่นเอง 

 


Linear Switch

          มาถึงอีกสวิตช์ยอดนิยมที่คนชื่อชอบการกดสนุกแต่เสียงไม่ดังมาก โดยชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น Linear หรือ เส้นตรงกล่าวคือเมื่อกดลงไปจะรู้สึกเหมือนตอบสนองได้ทันทีไม่มีเบรคสวิตช์สร้างเสียงเหมือนอย่างของ Clicky และจะรับรู้ถึงแรงกระแทกของสวิตช์ไม่ค่อยได้ โดยสวิตช์กลุ่มนี้เป็นที่นิยมของเกมเมอร์เนื่องมาจาก การตอบสนองที่ค่อนข้างไวและต้องใช้แรงกดประมาณนึงถึงจะทำให้สวิตซ์ทำงาน โดยสวิตช์กลุ่มนี้จะมีอยู่ 3 สีคือ แดง (Red), ดำ (Black) และ เทา (Linear Grey) ซึ่งความแข็งของสปริง ก็จะเรียงลำดับจากอ่อนสุดไปแข็งสุดตามลำดับ ถ้าสปริงอ่อนก็จะใช้แรงกดน้อยนั่นเองสำหรับสวิตช์กลุ่มนี้จะมีสียอดนิยมคือ แดงและดำ 


Tactile Switch

          เป็นสวิตช์ที่รวมข้อดีของ Linear และ Clicky เข้าด้วยกันโดยจะมีลักษณะสวิตช์ 2 จังหวะคล้าย clicky แต่กดแล้วจะเงียบเหมือน Linear เป็นสวิตช์ที่เงียบแต่กดสนุก เหมาะสำหรับคนที่ต้องการฟิลลิ่งการกดสนุกคล้ายกับบลูสวิตช์แต่เงียบเสียงกว่า โดยสวิตช์ Tactile จะมีสีที่นิยมในบ้านเราคือ Brown และในปัจจุบันก็เริ่มมีการทำ Tactile เป็น Blue ด้วยเช่นกัน

          โดยปกติแล้วสวิตช์แมคคานิคอลแต่ละตัวจะมีอายุการใช้งานได้ประมาณ 50-100 ล้านครั้ง เรียกได้ว่า ทนมือทนเท้า ทนการกระแทกเป็นอย่างดี  นอกเหนือจากสวิตช์ด้านบนแล้วยังมีสวิตช์แปลกๆอีกหลายเจ้าที่แบรนด์ต่างๆนำมาสร้างด้วยหลักการทำงานคล้ายกันแต่คนละชื่อและเทคโนโลยีที่ต่างกัน โดยทาง ComputeAndMore จะยกตัวอย่างแบรนด์ที่คุ้นหู ใครหลายๆคน คุ้นหู เช่น Logitech, Razer , HyperX ใครจะมีข้อดีข้อด้อยยังไงตามอ่านกันได้เลย


RAZER MECHANICAL SWITCH

          หลังจากอ่านจบไปข้างต้นหลายๆคนคงสงสัยแล้วของ RAZER หละไม่ได้เป็นสีแดง ฟ้า หรือ ดำ หนิ แต่เป็นสีเขียว เหลือง ส้ม มันเป็นสวิตช์แบบไหน ถ้าจะให้กล่าวเข้าใจโดยง่ายคือเป็นสวิตช์ที่ทาง Razer ผลิตและพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยีของทาง Razer เอง โดย Green คล้าย Clicky, Yellow คล้าย Linear และ Orange คล้าย Tactile นั่นเอง สาเหตุที่เปลี่ยนมาทำสวิตช์คีบอร์ดเนื่องมาจากการลดต้นทุนในการทำคีบอร์ดนั่นเอง โดยช่วงแรกที่ปรับปรุงพัฒนาก็มีเสียงตอบรับที่เรียกว่าค่อนไปในทางลบอย่างมาก แต่ ณ ปัจจุบัน Razer ทำสวิตช์นี้ได้ทนทานและตอบโจทย์ไม่แพ้  MX switch เลย


ROMER G MECHANICAL SWITCH

          หลังจากพูดถึงสวิตช์ที่ส่วนมากเป็นแกน + ของหลายค่ายๆไป เราก็จะละเลย สวิตช์ในคีบอร์ดจากค่าย Logitech ไม่ได้เลย โดยสวิตช์นี้มีชื่อว่า Romer-G ผลิตโดย Omron ให้กับ Logitech เจ้าเดียวโดยเฉพาะ โดยจะมีลักษณะแกนอยู่บริเวณขอบและจะมีหลอดไฟอยู่บริเวณตรงกลางของสวิตช์ไม่เหมือนของ Cherry หรือ เจ้าอื่นๆที่มีหลอดแยกบริเวณด้านบน ซึ่งการทำงานของ Romer-G คือ แกนกลางสปริงจะกดลงไปโดยตรง และมีแกนทองแดงล้อมสองด้านทำให้เกิดการทำงาน ซึ่งข้อดีของมัน ทำให้เกิดระยะกดที่ตื้นครับ โดยระยะกดทั่วไปของ Mx Switch เพื่อจะกดให้สวิตช์ทำงานนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 2-2.2 มิลลิเมตร แต่ Romer-G จะมีระยะการกดให้ทำงานอยู่ที่ 1.5 มิลลิเมตร ซึ่งก็จะพูดได้เลยว่าทำให้เกิดการตอบสนองไว ในช่วงหนึ่ง Logitech ยกเอาเรื่องนี้มาโปรโมทว่าเป็นคีบอร์ดแมคคานิคอลที่ตอบสนองไวที่สุด ซึ่งก็จริงครับ แต่จะแลกมาด้วยสัมผัสที่รู้สึกตื้นกว่า แกน + ของ mx switch ทั่วไปนั่นเอง


HYPER X ORIGIN SWITCH

          หลังจากที่ HyperX ใช้สวิตช์ของทาง Kailh และ Mx switch สลับไปมาในหลายๆรุ่น ก็ถึงเวลาพัฒนาสวิตช์ของตัวเองขึ้นมาโดย สวิตช์ของ HyperX ทีผลิตและพัฒนาขึ้นมาเองมีทั้งหมด 2 สี คือ HyperX Red เป็นแบบ Linear  และ HyperX Aqua เป็นแบบ Tactile โดยคีบอร์ดของ HyperX จะมุ่งเน้นการตอบสนองที่ค่อนข้างไวต่อคีบอร์ดที่ใช้แกน + ทั่วไป โดยออกแบบให้มีจุดสั่งการให้คีบอร์ดตอบสนองที่ 1.8 มิลลิเมตร และมีระยะเคลื่อนที่รวม 3.8 มิลลิเมตร ( mx switch ทั่วไปจะอยู่ที่ 4 มิลลิเมตร อีกทั้งยังออกแบบให้ลักษณะของวัสดุตัวสวิตช์เป็นสีใสโปร่งแสงทั้งหมดทำให้เมื่อปิด Keycap แล้วไฟสามารถลอดผ่านจนเรียกได้ว่าเป็นคีบอร์ดที่มีไฟสว่างและสวยที่สุดในบรรดาแกน + เลยก็ว่าได้


OPTICAL SWITCH KEYBOARD

           มาถึงเทคโนโลยีใหม่สำหรับคีบอร์ด ถามว่า Optical Switch นี้เป็นนวัตกรรมสวิตช์แบบใหม่ไหม ก็ไม่ใช่ทั้งหมด โดยตัว Optical Switch ยังคงมีพื้นฐานการส่วนประกอบคล้าย Mechanical Keyboard แต่หลักการทำงานจะต่างกัน โดย Mechanical จะทำงานผ่านสปริงให้ขั้วที่ฉาบสารนำไฟฟ้าชนกับตัวแผ่น PCB ทำให้เกิดการส่งสัญญาณข้อมูลได้ เมื่อใช้เวลาไปนานๆแผ่นทองแดงอาจเกิดการบิดงอ เสื่อมสภาพทำให้เกิดการเสียหาย แต่ Optical Switch จะทำงานเมื่อมีการกดปุ่มเข้าไป จะทำให้สปริงเปิดช่องว่างให้แสงอินฟาเรดส่องผ่านไปยังอีกขั้วแล้วส่งข้อมูลสัญญาณไปที่คีบอร์ดแทน ทำให้เกิดข้อดีในการใช้งานมากมายไม่ว่าจะเป็นอาการเบิ้ล ที่อาจจะเคยเป็นหรือเคยเห็นกันมาใน  Mechanical Keyboard จะไม่มีใน Optical Switch เลยก็ว่าได้ เรียกว่าทนทาน แม่นยำ และคงฟีลลิ่งการกดเหมือน Mechanical Keyboard ทุกประการเลย

พูดถึง Optical Switch แล้วเราจะลืมประเภทของสวิตช์นี้ไปไม่ได้ โดย Optical Switch นี้จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

          - LIGHT STRIKE SWITCH  (LK SWITCH) ก็คือสวิตช์แบบ Optical   ทั่วไปทำงานโดยให้แสงลอดผ่านเมื่อมีการกดปุ่มลงไปหาซื้อได้ทั่วไป มีราคาที่ไม่สูงมาก
          - Flaretech Switch เป็นสวิตช์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่มีกลไกการทำงานคล้ายคลึงกับ LK SWITCH เพียงแต่จะต่างกันที่แนวของอินฟราเรด โดย LK SWITCH จะยิงเป็นแนวขวาง ส่วน Flaretech จะยิงเป็นแนวตรงซึ่งทำให้ Flaretech นั้นสามารถตอบสนองได้ดีกว่า LK นั่นเอง 
 


ตารางเปรียบเทียบ Switch ที่ทาง Compute And More ทำมาให้ดูแบบเข้าใจง่ายๆ

ที่จริงยังมีคีบอร์ดสวิตช์อีกหลายแบบมากมายภายในท้องตลาดที่ยังไม่กล่าวถึงกันไป ถ้าอยากรู้ว่าตัวไหนฟีลลิ่งเป็นอย่างไรมาต้องลองไปหากด หาใช้งานกันดูนะครับ 


สามารถเลือกซื้อ Gaming Keyboard ได้ที่ https://computeandmore.com/categories/gaming-gear/gaming-keyboard

เลือกอ่านบทความอื่นๆของ Compute And More ได้ที่ https://computeandmore.com/blogs